เล่าเรื่องผี: ตำนานผีเจ้าผีนายตอนสมัยกรุงศรีอยุธยา


วันคืนล่วงผ่าน ราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็คลอดลูก (อันเกิดจากความสัมพันธ์ลับๆ กับสมเด็จพระนารายณ์) เป็นเด็กชายนามว่าเดื่อ พระเพทราชารับเลี้ยงเด็กชายเดื่อ ให้ความรักเสมือนเป็นลูกตนเอง โดยปกปิดเรื่องชาติกำเนิดไว้เป็นความลับ
     
จนเข้าสู่วัยหนุ่ม นายเดื่อได้ถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็ก (และเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์) วันหนึ่ง พระองค์ทรงใคร่จะให้นายเดื่อรู้ความจริง ครั้นจะบอกตามตรงก็ติดขัดด้วยเหตุหลายประการ จึงคิดหาอุบายเฉลยทางอ้อม ตรัสเรียกนายเดื่อมาส่องกระจกเงาเคียงคู่กับพระองค์ แล้วใบหน้าอันประพิมประพายคล้ายคลึงที่ปรากฎให้เห็น ก็เป็นคำตอบที่ต่างฝ่ายต่างรู้กันอยู่ในที เมื่อนายเดื่อรู้ว่า ตนเองมีสิทธิที่จะสืบราชบัลลังก์ ก็เริ่มแสดงพฤติกรรมล่อแหลมหลาย ๆ อย่าง เช่น บริโภคโภชนาหารในพระสุพรรณภาชนะอันเหลือเสวย หรือนำเอาพระภูษาทรงซึ่งเจ้าพนักงานตากไว้นั้นมานุ่งห่ม ฯ ผู้ใดจะว่ากล่าวตักเตือนก็ไม่ฟัง จึงเจ้าพนักงานทั้งหลายนำเอาเหตุนั้นขึ้นกราบทูล สมเด็จพระนารายณ์ก็ไม่ได้ถือสา มิหนำซ้ำในกาลต่อมา ยังเลื่อนนายเดื่อขึ้นเป็นหลวงสรศักดิ์
         
ช่วงปลายแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวร แลอาการนั้นก็ทรุดหนักลงตามลำดับ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่าไว้ว่า หลวงสรศักดิ์ฉวยกุมโอกาสนี้ เป็นต้นคิดเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวให้พระเพทราชาเข้าร่วมชิงบัลลังก์ ท้ายสุดก็นำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร โดยฝ่ายที่มีพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์เป็นผู้นำ ได้รับชัยชนะ จากนั้นมินาน สมเด็จพระนารายณ์ก็เสด็จสวรรคต พระเพทราชาได้ขึ้นครองราชย์ เริ่มต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง หลวงสรศักดิ์ได้เป็นกรมพระราชวังบวรฯ เหตุการณ์ต่อมาก็ทำท่าว่าจะราบรื่นเป็นไปตามครรลอง คือ หากสิ้นพระเพทราชาแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ น่าจะได้เป็นกษัตริย์สืบต่อ
         
เล่าเรื่องผี: ตำนานผีเจ้าผีนายตอนสมัยกรุงศรีอยุธยา
เล่าเรื่องผี: ตำนานผีเจ้าผีนายตอนสมัยกรุงศรีอยุธยา

อุปสรรคมาเกิดตรงที่ พระเพทราชาทรงมีโอรสแท้ๆ ในสายโลหิต นามว่าเจ้าพระขวัญ เมื่อพระเพทราชาทรงประชวรหนัก ข่าวลือก็แพร่สะพัดหนาหูว่า เจ้าพระขวัญจะได้เป็นรัชทายาท กรมพระราชวังบวรฯ จึงระแวงในตัวเจ้าพระขวัญ กระทั่งลวงมาปลงพระชนม์ ขณะนั้น เจ้าพระขวัญเพิ่งมีอายุได้ 13 ปี ผ่านพิธีโสกันต์ (โกนจุก) มาไม่นาน และกำลังฝึกหัดขี่ม้า วันเกิดเหตุ เจ้าพระขวัญกำลังเสวยแตงโมไปได้ครึ่งลูก กรมพระราชวังบวรฯ ก็ให้ข้าทาสบริวารมาเชิญเสด็จเจ้าพระขวัญเข้าเฝ้า อ้างว่ามีพระบัณฑูรไปทรงม้าให้ทอดพระเนตร เจ้าพระขวัญเก็บแตงโมอีกครึ่งที่เสวยค้างไว้ แล้วเสด็จมาเข้าเฝ้า ครั้นมาถึงก็พบว่าบรรดาพี่เลี้ยงข้าไททั้งปวงถูกกีดกันให้อยู่แต่เพียงเบื้องนอกบริเวณกำแพง เจ้าพระขวัญจึงเสด็จเข้าไปตามลำพัง และโดนสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ในพระตำหนักหนองหวาย เสร็จแล้วก็เอาพระศพใส่ถุง ให้ข้าหลวงนำไปฝัง ณ วัดโคกพระยา
         
เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระเพทราชาแล้ว อดีตหลวงสรศักดิ์หรือกรมพระราชวังบวรฯ ก็ขึ้นครองราชย์ และเป็นที่คุ้นเคยเรียกขานในพระนามว่า พระเจ้าเสือ ตอนนี้แหละครับ ที่เชื่อกันว่า ได้เกิดเรื่องเฮี้ยน ๆ สยองขวัญขนหัวลุก ครั้งแล้วครั้งเล่าในตำหนักเดิมของเจ้าพระขวัญ พูดง่าย ๆ คือ วิญญาณหรือผีเจ้าพระขวัญ ยังคงอาละวาดหลอกหลอน ไม่ยอมไปผุดไปเกิด หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจริงๆ เกี่ยวกับ “ความแรง” ของเจ้าพระขวัญ มีอยู่นิดเดียวเท่านั้น ครั้งแรกคือ ขณะประสูติ เกิดเหตุแผ่นดินไหวเป็นนิมิตอัศจรรย์ จนคนทั้งหลายเลื่อมใสเข้าสวามิภักดิ์เป็นอันมาก ส่งผลให้สถานะผู้สืบทอดราชสมบัติของกรมพระราชวังบวรฯ ต้องสั่นคลอนในอีกหลายปีต่อมา
         
ถัดมาคือ ขณะที่เจ้าพระขวัญถูกลวงไปปลงพระชนม์ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ ซึ่งเป็นพระมารดา กำลังเข้าที่พระบรรทมอยู่ แต่เพียงแค่เคลิ้มๆ ไป ยังมิได้หลับสนิท ก็ได้ยินเสียงเจ้าพระขวัญมาทูลว่า "ข้าพเจ้าจะขอพระราชทานผลอุลิตหวานซีกซึ่งเหลืออยู่นั้นเสวยต่อไป" ผลอุลิตหวานก็คือ "แตงโม" (ในพจนานุกรมฉบับที่ผมใช้ สะกดเป็น "อุลิด" ต่างจากในพระราชพงศาวดารเล็กน้อย) เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพได้ยินเสียงนั้นแล้ว ก็ตกใจสะดุ้งตื่น รู้ทันทีว่าเป็นลางร้าย และเมื่อข้าทาสบริวารเจ้าพระขวัญ เดินร้องไห้เข้ามากราบทูล ลางร้ายนั้นก็กลายเป็นจริง พระราชพงศาวดารเล่าไว้เพียงเท่านี้ ไม่มีรายละเอียดอื่นใดเพิ่มเติม
     
เรื่องเล่าที่ว่า ศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณาราม น่าจะเป็นตำหนักเดิมของเจ้าพระขวัญ และเนื่องด้วยผีดุเหลือเกิน พระเจ้าเสือจึงถวายยกให้สมเด็จแตงโมฯ เป็นการแก้อาถรรพณ์ โดยถอดรื้อจากกรุงศรีอยุธยา ลำเลียงมาปรุงเรือนประกอบขึ้นใหม่ที่เพชรบุรี เพื่อใช้เป็นศาลาการเปรียญ ทั้งหมดนี้เป็นข้อสันนิษฐานของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อครั้งมาแสดงปาฐกถาที่วิทยาลัยครูเพชรบุรี โดยให้เหตุผลว่า พิจารณาจากรูปแบบอาคาร ที่มีช่อฟ้า ใบระกา และเขียนลายทองแล้ว ผู้ที่เคยพำนักอาศัยในตำหนักดังกล่าว ควรจะต้องเป็นบุคคลระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน
     
ในบทความชื่อ "แลเพชรภูมิ พลิกหาปูมเมืองเพชร" จากหนังสือ "อารยะของแผ่นดิน" โดยคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า เมื่ออาจารย์คึกฤทธิ์เล่าจบ หมาสิบกว่าตัวที่หมอบอยู่รอบหอประชุมวิทยาลัยครูเพชรบุรี พร้อมเพรียงกันลุกขึ้นโก่งคอหอนรับส่งเสียงโหยหวนวังเวง ขณะที่เหล่าคณาจารย์และนักศึกษาต่างล้วนเงียบกริบ สบตากันเลิกลั่ก อาจารย์คึกฤทธิ์จึงหยอดทิ้งท้ายไว้ว่า "...ที่พูดนี่พวกคุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่หมามันเชื่อก็แล้วกัน!"
     
มีเหตุผลสนับสนุนเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่งคือ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีของเมืองเพชร ลงความเห็นว่า สังเกตรอยคมขวานที่บานประตูแล้ว ไม่ได้ฟันจากบนลงล่าง น่าจะเป็นการใช้ขวานจามขณะถอดบานประตูนอนราบอยู่กับพื้นมากกว่า เพราะรอยนั้นชี้ทิศจากล่างสู่บน จึงเป็นไปได้ว่า อาจเป็นการผ่าประตูเพื่อแก้อาถรรพณ์ที่ติดมากับศาลาหลังนี้ ทั้งเรื่องเล่าที่ว่า รอยผ่าเกิดจากขวานพม่าหรือเหตุการณ์ผีเจ้าพระขวัญหลอกหลอน ต่างยังไม่มีบทสรุปและหลักฐานรัดกุมแน่นหนานะครับ เป็นเพียงแค่เรื่องเล่ากึ่ง ๆ นิทาน ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
     
ถ้าถามผมว่า คล้อยตามเรื่องเล่าเกี่ยวกับรอยขวานพม่าหรือว่ากรณีผีดุมากกว่ากัน? พูดตามตรง เชื่อยากทั้งสองเรื่อง เปลี่ยนคำถามเสียใหม่ว่า "ชอบ" เรื่องไหน? คำตอบก็คือ ผมชอบทั้งสองเรื่องเท่าๆ กัน จะตัดเหตุการณ์ไหนทิ้งไป ก็เข้าข่ายรักพี่เสียดายน้อง (หรือจะให้ถูกต้องยิ่งขึ้นก็คือ "รักผีเสียดายขวาน")
จนต้องหยิบมาผสมรวมกัน กล่าวคือ เมื่อเจ้าพระขวัญโดนปลงพระชนม์แล้ว ก็มีเหตุต่างๆ นานา ยามค่ำคืนมักจะได้ยินเสียงเด็กร่ำไห้ดังออกมาจากตำหนัก บางทีผู้คนเดินผ่านไปมา ก็พบผีเจ้าพระขวัญมาสะกิดข้างหลัง ถามหาผลแตงโมครึ่งซีกที่เสวยค้างไว้ บางทีกลางวันแสกๆ ก็ได้ยินเสียงฝีเท้าวิ่งโครมครามไปมาบนตำหนัก ฯลฯ
     
บรรดาชาววังทั้งหลาย จึงอยู่ไม่เป็นสุข ต่างพากันเข็ดขยาด ไม่กล้าเดินผ่านตำหนักเจ้าพระขวัญ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่โดนผีเจ้าพระขวัญเล่นงานหนักหน่วงสุด ควรจะต้องเป็นพระเจ้าเสือ ซึ่งทั้งโดนเข้าฝันหลอกหลอนอยู่ทุกค่ำคืน ทั้งได้ยินเสียงผีเจ้าพระขวัญมาฝึกขี่ม้าวนเวียนรอบ ๆ พระองค์ในยามกลางวัน
รวมทั้งเมื่อจะเสวยผลอุลิต พลันที่ใช้มีผ่าซีกแตงโม ก็ปรากฎเลือดเนืองนองท่วมท้น พระเจ้าเสือในเรื่องที่ผมฟุ้งซ่านคิดไปเอง น่าจะทรงแก้ไขด้วยวิธีการต่างๆ นานา ทั้งทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณเจ้าพระขวัญ อาราธนาพระสงฆ์มาทำพิธีที่ตำหนัก ฯ แต่ผีก็ยังดุและหลอกหลอนอยู่เหมือนเดิม มิหนำซ้ำยิ่งสยองหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ
     
ตามทฤษฎีคิดโดยปราศจากผู้ร่วมสมคบ ผมนึกแถเอาสีข้างเข้าถูได้อีกว่า เหตุที่พระเจ้าเสือทรงเสด็จไปยิงนกตกปลายังละแวกถิ่นต่าง ๆ (ดังเช่นที่ปรากฎในพงศาวดาร) ก็เพื่อจะหลีกเลี่ยงห่างไกลจากตำหนักผีดุ เพื่อให้ได้อรรถรสแซ่บซึ้งยิ่งขึ้น เมื่อเสด็จห่างจากตำหนักเดิมของเจ้าพระขวัญแล้ว ก็ยังคงโดนหลอกหลอนไม่เลิกรา และฝันร้ายอยู่เนืองๆ จนเมื่อทราบข่าวว่า สมเด็จแตงโมฯ จะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหญ่สุวรรณารามนั่นแหละครับ พระองค์ก็ทรงเห็นทางแก้ปัญหา ผีเด็กกินแตงโม ก็ต้องแก้ด้วยพระที่ได้นิคเนมจากการกินแตงโมเมื่อครั้งวัยเยาว์ จึงจะถูกคู่ลงตัว ตำหนักเจ้าพระขวัญ ก็เลยถูกถอดรื้อถวายท่านสมเด็จแตงโมฯ เพื่อใช้เป็นศาลาการเปรียญ ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม และคงจะได้มีพิธีแก้อาถรรพณ์ สะกดวิญญาณ โดยไม่ต้องใช้ขวานผ่าประตู
     
เหตุการณ์ผีหลอกจึงสงบลง จนล่วงเลยถึงคราวเมื่อทัพพม่าผ่านมายังเมืองเพชร และมีคำสั่งให้กวาดต้อนครัวเรือนชาวบ้านไปเป็นเชลย ผู้คนที่ตระหนกตกใจในภัยจวนตัว ไม่รู้ว่าจะหลบหนีไปไหน ก็พากันเข้าซ่อนยังภายในศาลาการเปรียญ ตามเรื่องเล่าที่แพร่หลาย เมื่อทหารพม่าใช้ขวานจามบานประตู พบว่าเป็นไม้เนื้อหนา ยากแก่การทำลาย จึงล้มเลิกความตั้งใจ ล่าถอยกลับไป ง่าย ชืด จืดไปหน่อย กร่อยไปนิดนะครับ ผมก็เลยต้อง "ใส่ไข่ระบายสี" ให้ผีเจ้าพระขวัญมีบทบาทอีกสักครั้ง พลันที่คมควานกระทบเนื้อไม้ ก็มีเสียงกรีดร้องเจ็บปวด ดังขึ้นแถวๆ บริเวณรอยผ่า
         
แรกเริ่ม บรรดาทหารพม่า ก็เข้าใจว่าเสียงหวีดสยองดังกล่าว มาจากชาวบ้านที่หลบอยู่ข้างใน ตะโกนขึ้นด้วยความกลัว ในทางกลับกัน ชาวบ้านก็คิดว่า เบื้องนอกนั้น ทหารพม่าคงจะสำเร็จโทษเด็กที่หลบหนีซ่อนตัวไม่ทัน แต่เมื่อพม่าเงื้อขวานฟันบานประตูเป็นครั้งที่สอง ก็เห็นกันถนัดชัดแจ้งว่า ข้อมือทหารผู้นั้นคล้ายดังถูกบิด กระทั่งกลายเป็นการเหวี่ยงในท่วงท่าฝืนธรรมชาติ รอยผ่าจึงปรากฎในลักษณะ ฟันย้อนจากล่างขึ้นบน ผลก็คือ ทหารพม่าผู้ปฏิบัติการ ข้อมือหักทันที ซ้ำร้ายยังลงคลานสี่เท้า ทำท่าเป็นม้า วิ่งควบตะบึงไปมา (คงไม่ลืมนะครับว่า ก่อนโดนปลงพระชนม์ เจ้าพระขวัญกำลังหัดขี่ม้า) ทำเอาพรรคพวกโดนดีดโดนชนบาดเจ็บกันระนาว
     
ท้ายสุดพม่าผู้โดนวิญญาณเจ้าพระขวัญควบขี่เหมือนม้า ก็หมดแรงขาดใจตาย ทหารพม่าที่เหลือก็เลยวงแตก โกยแน่บ เผ่นกระจาย ศาลาการเปรียญและผู้คนที่หลบอยู่ในนั้นจึงแคล้วคลาดปลอดภัย
เล่าเรื่องผี: ตำนานผีเจ้าผีนายตอนสมัยกรุงศรีอยุธยา เล่าเรื่องผี: ตำนานผีเจ้าผีนายตอนสมัยกรุงศรีอยุธยา Reviewed by theghoststry on มีนาคม 21, 2561 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น

Business

[recent]